top of page

ให้คุณค่าตัวเองแบบสูงเกินพอดี อาจทำลายความสัมพันธ์

(Self-esteem and Relationship Part 2)

Self-esteem ที่สูงเกินไป ทำให้เราลดคุณค่าผู้อื่น และเพิ่มคุณค่าให้ตัวเองสูงกว่าความเป็นจริง



เราคงได้ยินกันมาเสมอว่า การเห็นคุณค่าตัวเอง (Self-esteem) เป็นเรื่องที่ดี… แต่ Self-esteem ที่สูงเกินไป อาจส่งผลเสียต่อความสัมพันธ์ หากเราไม่มีการตระหนักรู้ในตัวเองที่ดี (Self-awareness) มาคอยกำกับ


การให้คุณค่า หรือการนับถือตัวเองที่สูงเกินไปนี้ อาจกลายเป็น “ความหลงตัวเอง” (Narcissism) ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเห็นแก่ตัว ตามใจตัวเอง หรือมีมุมมองต่อตัวเองที่สูงเกินจริงในความสัมพันธ์ (Self-indulgence; Neff, 2011)


คนที่มีลักษณะหลงตัวเอง (Narcissistic) มักจะสนใจหรือมองหาคนรัก ที่จะช่วยเสริมสร้างภาพลักษณ์ของตัวเองให้ดีขึ้น เช่น เลือกคนรักที่ตัวเองมองว่าน่าดึงดูดหรือประสบความสำเร็จเป็นพิเศษ 



ความสัมพันธ์ที่ดูเหมือนจะมีความรักและความชื่นชมอยู่ในตอนแรก แต่สุดท้ายอาจกลายเป็นการแสวงหาผลประโยชน์เพราะความรักหรือความสนใจของคนแบบ Narcissistic มักจะไม่ยั่งยืนเท่าไหร่


และเมื่อไหร่ที่รู้สึกว่า ภาพลักษณ์ของตัวเอง โดนดูถูก เย้ยหยัน สบประมาท จนรู้สึกอับอาย เสียเกียรติ หรือ เสียตัวตน คนเหล่านี้มักโกรธ และอาจตอบโต้ด้วยกลไกป้องกันตัว เช่น แสดงความก้าวร้าว โดยเฉพาะเมื่อรู้สึกว่าคนอื่นไม่ได้มองพวกเขา ตามที่พวกเขาต้องการให้มอง (Narcissistic injury; Rob Henderson)



เพราะข้อจำกัดของ Self-esteem คือ เราต้องพึ่งพามุมมองเปรียบเทียบจากคนอื่น


เช่น "สิ่งนี้ของเราดีหรือด้อยกว่าคนอื่น?"
"เราดูดีในสายตาคนอื่นหรือเปล่า?"
"ความสำเร็จของเรา ขึ้นอยู่กับสิ่งที่คนอื่นมอง?"
"ไม่ถูกใจเธอได้ แต่ไม่ถูกใจฉัน... ไม่ได้!?"

ที่พออะไรบางอย่างในความสัมพันธ์มีรอยร้าว หรือไม่สมบูรณ์แบบ เราเลยเลิกรักกัน... ง่ายๆ

 (Juliana Breines, Ph.D., Rob Henderson, Baumeister et al., 2003




ให้คุณค่าตัวเองสูงเกินไป อาจทำให้เราอยากวิ่งหนี…มากกว่ารักษาความสัมพันธ์


แม้เปรียบเทียบกับคนที่มี Self-esteem สูง แต่ก็จะไม่ถึงขั้นหลงตัวเองได้แบบ Narcissistic 

งานวิจัยก็พบว่า Self-esteem สูงก็อาจไม่ได้เป็นข้อดีในความสัมพันธ์เสมอไป เพราะพบว่าเมื่อมีปัญหาในความสัมพันธ์ คนที่มี Self-esteem สูง มักลดคุณค่าคนรัก หรือมองว่าอีกฝ่ายไม่มีคุณค่า ไม่มีความสำคัญมากพอให้มานั่งพิจารณา (Active-Destructive ‘Exit’ Category of Responses; Rusbult et al., 1987)



และเลือก เดินออกจากความสัมพันธ์ หรือมองหาคนรักใหม่ (หนีปัญหา) มากกว่าจะมองหาวิธีแแก้ปัญหาในแบบสร้างสรรค์มากว่าในการรับมือ เพราะคน Self-esteem สูงอาจมีความเปราะบางทางอารมณ์ และมักต้องการให้ คนอื่นเห็นตามด้วย ว่าตัวเองมีคุณค่า และผูกคุณค่าตัวเองไว้กับการยอมรับจากภายนอก จึงอาจกลายเป็นตำหนิหรือโทษคนอื่น เพื่อปกป้องตัวเองเวลาทำผิด (Baumeister et al., 2003)




จะดีกว่าไหม? ถ้าคุณค่าของเราตั้งอยู่บนพื้นฐานความจริงที่ว่ามนุษย์ทุกคนสามารถ ผิดพลาดและล้มเหลวได้


เราจึง ยอมรับ และ ยินดีโอบกอดความไม่สมบูรณ์แบบ ของตัวเองและคนอื่นอย่างเป็นกลาง และไม่ตัดสินตีความ ซึ่งมันมีผลต่อมุมมอง ทำให้เราเข้าใจได้ดีด้วยว่า… คนรักของเราไม่จำเป็นต้องสมบูรณ์แบบ (Self-compassion and ACT; Neff & Tirch, 2013)



เพราะคุณค่าความสัมพันธ์ของเรา
ไม่ได้อยู่ที่ความ Perfect

แต่บางส่วนอยู่ที่ความพยายามที่จะเข้าใจ เห็นใจ เรียนรู้ที่จะยอมรับทั้งข้อดีและข้อด้อย หาทางรับมือร่วมกัน ไปจนถึงการให้อภัย ฯลฯ

เพื่อให้ทุกฝ่ายได้เยียวยา และก้าวต่อไปด้วยกัน หรือตัดสินใจจากกันด้วยดีไม่ติดค้าง

 (Bogacz et al., 2020, Braithwaite et al., 2011, Mywellnesshub.in, Mytherapynyc.com)



ดังนั้น ความรักตนเอง หรือการให้คุณค่าตัวเองที่มากเกินพอดี อาจไม่จำเป็นต่อความสัมพันธ์อย่างที่เราคิด สิ่งที่ดูเหมือนจะดีต่อความสัมพันธ์มากกว่า คือ การรักตัวเอง แบบที่เรายอมรับตนเอง (Self-acceptance) หรือการมองว่าตัวเองเป็นคนดีที่มีคุณค่าควรได้รับความรัก โดยไม่จำเป็นต้องพิสูจน์ตัวเองหรือทำให้คนอื่นด้อยกว่า


เพราะการที่เรายอมรับตัวเอง เราจึงไม่ต้องเรียกร้องให้คนรักมาพูดย้ำๆ ซ้ำๆ หรือแสดงออกแบบเกินพอดีว่ารักเรา หรือเรามีค่ากับเขามากแค่ไหน (Excessive reassurance-seeking; Joiner et al., 1992) หรือวิพากย์วิจารย์ตัวเอง และคนรักเยอะๆ เมื่อเกิดความสับสน ไม่แน่ใจในความสัมพันธ์ (Excessive criticism; Bushman & Baumeister, 1998) ปัญหาเหล่านี้จะลดน้อยลงตามไปด้วย เพราะเราสามารถยืนยันคุณค่าของตัวเอง และยอมรับตัวเอง ได้ด้วยตัวของเราเอง … ไม่ใช่จากคนรัก




แปลและดัดแปลงจากบทความที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ Psychology Today เขียนโดย Juliana Breines, Ph.D. และ Rob Henderson


อ้างอิง

[1] Psychology Today.com (Neff, 2011)

[2] Psychology Today.com (ฺBreines, 2016)

[3] Psychology Today.com (ฺHanderson, 2017)

[4] Baumeister et al. (2003)

[5] Bogacz et al. (2020)

[6] Braithwaite et al. (2011)

[7] Bushman & Baumeister, (1998)

[8] Crocker et al. (2003)

[9] Joiner et al. (1992)

[10] Mywellnesshub.in (Prapoorna, 2025)

[11] Mytherapynyc.com

[12] Neff (2011)

[13] Neff & Tirch, (2013)

[14] Rusbult et al. (1987)


 



รู้จักกับนักจิตวิทยาการปรึกษาและนักจิตบำบัด



นัดพบนักจิตวิทยาการปรึกษาและนักจิตบำบัด


bottom of page