จริงหรือไม่? หากจะรักคนอื่น ต้องรักตัวเองให้เป็นก่อน
หลายคนคงเคยได้ยินกันบ่อย ว่าการจะรักใครได้จริงๆ ต้องเริ่มจากการรักตัวเองก่อน แต่คำพูดนี้มันจริงเท็จมากน้อยแค่ไหนกัน? มีงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์รองรับไหม? หรือเป็นแค่คำพูดที่ฟังดูดี เพื่อปลอบใจตัวเองเท่านั้น? วันนี้ Mission On อยากชวนทุกคนมาหาคำตอบทางจิตวิทยาเบื้องหลังเรื่องราวของ “การรักตัวเอง” หรือ Self-love กัน
ดอกเตอร์ Leon F. Seltzer นักจิตบำบัด ผู้เขียนบทความลงบนเว็บไซต์ Psychology Today และทำงานในฐานะนักจิตวิทยามาตลอด 30 กว่าปี กล่าวว่า
แทบเป็นไปไม่ได้เลยว่า ใครก็ตามที่ไม่รักตัวเอง … จะมีความสุขได้อย่างแท้จริง
การรักตัวเองอาจไม่ใช่สิ่งจำเป็น สำหรับการใช้รักคนอื่น แต่การได้รักและยอมรับตัวเองอย่างเหมาะสม ทำให้เราสุขใจ เห็นคุณค่าตัวเอง และสบายใจที่จะเป็นตัวเอง (Cordaro et al., 2024, Jauhri, 2022, Mongrain et al., 2010) ซึ ่งส่งผลดีกับสุขภาพจิตของเรา … ในทางกลับกันถ้าเราไม่ชอบตัวเอง เราก็คงไม่มีความสุขกับการใช้ชีวิต
ดร. Leon F. Seltzer ยกตัวอย่างว่า มหาเศรษฐีหลายคนไม่ได้มีความสุขจริง ๆ เลย เพราะความร่ำรวยและสิ่งของต่างๆ ที่ใช้เงินซื้อได้ ไม่ได้เป็นสิ่งที่การันตีความสุข … ความสัมพันธ์ก็เช่นกัน ถึงแม้ว่าเราจะได้รับความรักจากคนรักของเรา แต่สุดท้ายแล้ว ความสุขของตัวเราจะขึ้นอยู่กับความสุขที่เรามีให้กับตัวเอง
หลายคนคงเคยได้ยินเรื่องราวของคนที่ "มีทุกอย่าง" แต่สุดท้ายก็ยังเป็น ทุกข์ทางใจ ถึงแม้จะดูประสบความสำเร็จ แต่คนเหล่านี้กลับรู้สึกว่าชีวิตของพวกเขาเป็นแค่การแสดง เป็นการหลอกลวงที่ไม่ใช่ความจริง และกลัวว่าวันหนึ่งจะถูกจับได้ คนเหล่านี้มักตำหนิ ดูถูกตัวเอง มีความคิดด้านลบกับตัวเองสูงมาก ๆ และยอมให้ความคิดพวกนี้เข้ามามีอิทธิพลมากกว่าความสำเร็จที่พวกเขาได้ทำมาทั้งชีวิต
ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว คนเหล่านี้มักมีปมปัญหาในวัยเด็ก เช่น ถูกพ่อแม่ทำร้าย ทารุณ หรือทอดทิ้ง ประสบการณ์ลบต่าง ๆ ตรงนี้ทำให้พวกเขาเกิดความสงสัยในตัวเองว่า
“เราไม่มีค่าหรอ?”
“เราไม่สวย/หล่อหรอ?”
หรือ “เราไม่เก่ง/ไม่มีความสามารถมากพอหรอ?”
ปมด้อยในใจเหล่านี้ หากไม่เคยได้รับการบำบัดในระยะยาว อาจทำให้เกิดความคิดที่ว่าจะไม่มีใครช่วยเราได้อีกแล้ว
ดังนั้นคนที่ไม่มี Self-love จึงมักไม่เชื่อและไม่มั่นใจในความสำเร็จของตัวเอง แต่เชื่อความคิดลบๆ ที่ฝังลึกมานานจากในอดีต ทำให้พวกเขามองว่าความสำเร็จที่ได้มา เป็นเรื่องไร้ค่า หรือแม้แต่ทำลายความรู้สึกดีๆ ที่พวกเขาควรมีให้ตัวเอง
และแม้จะไม่มีงานวิจัยใดที่สามารถยืนยันได้อย่างตรงไปตรงมาว่า การรักตัวเองเป็นสิ่งจำเป็น ก่อนที่จะรักคนอื่น … แต่เราคงเคยสังเกตได้ว่า บางครั้งคนที่ดูแลคนอื่นได้ดี แต่กลับรักตัวเองไม่ได้ก็มี ซึ่งสาเหตุบางประการอาจมาจาก การไม่มั่นใจในตัวเอง และ ไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง
ดังนั้นอยากให้คุณวางเรื่องรักคนอื่นลงก่อน หากคุณยังไม่ชอบตัวเอง หรือไม่สามารถรักตัวเองได้ การบำบัดทางจิตวิทยาสามารถช่วยแก้ปัญหานี้ได้ ถึงแม้ว่าการเปลี่ยนแปลงความคิดลบที่ฝังลึกในใจอาจฟังดูเป็นเรื่องยาก และต้องใช้เวลานานในการรักษา แต่มันเป็นไปได้ค่ะ ถ้าเราตั้งใจที่จะแก้ไขปัญหาการไม่ชอบตัวเอง การเปลี่ยนแปลงก็เกิดขึ้นได้แล้ว เพราะเป้าหมายแท้จริงของการรักตัวเอง ก็คือการยอมรับตัวเองโดยไม่มีเงื่อนไข (Self-acceptance) ซึ่งเป็นเรื่องที่ฝึกฝนได้
คำถามของเราคือ การเรียนรู้ที่จะรักตัวเองจะทำให้เรารักคนอื่นได้มากขึ้นหรือไม่?
คงหาคำตอบเชิงวิทยาศาสตร์มาตอบได้ยาก
เพราะการรักตัวเองมากขึ้นอาจจะไม่เกี่ยวกับการรักคนอื่น แต่ถ้าเรายอมรับตัวเองได้ ความสัมพันธ์ของเราจะดีขึ้นไปตามลำดับ เพราะเรากล้าเปิดใจให้คนอื่นมารักเรา ยอมรับความใกล้ชิดที่คนอื่นยิบยื่นให้มากขึ้น ไม่ต้องหลบซ่อนข้อเสียของตัวเอง และอื่น ๆ ซึ่งการกล้าเปิดเผยตัวตนของเรามันส่งผลต่อคนรอบข้างเราด้วย ทำให้อีกฝ่ายในความสัมพันธ์ก็กล้าที่จะเปิดเผยตัวตนกับเรา ทำให้ความสัมพันธ์หรือความรักของคู่เรายิ่งผูกพันลึกซึ้งได้ดีมากยิ่งขึ้น (Forbes.com)
โดยเฉพาะเมื่อความรู้สึกลบเก่า ๆ เช่น ความวิตกกังวล ความอับอาย ความรู้สึกด้อยค่า หรือความรู้สึกไม่เป็นที่รักที่เคยมีของเราได้ถูกเยียวยาแล้ว เราจะยิ่งไม่กลัวที่จะเปิดเผยตัวเอง รู้สึกสบายใจและมั่นใจที่จะแสดงออกหรือสื่อสาร ว่าเรารู้สึกอย่างไร คิดอะไร ทำให้สามารถรักและเข้าใจซึ่งกันและกันได้ดีมากขึ้นไปอีก (Forbes.com)
ความเชื่อเดิมๆ เกี่ยวกับความรักและความสัมพันธ์ หลายครั้งก็ไม่ตรงกับความจริง
สรุปคือ ถ้าเราเชื่อว่าการรักตัวเองก่อนเป็นสิ่งสำคัญ อาจจะลองเปลี่ยนมุมมองใหม่ว่า "เพื่อรักและยอมรับคนอื่นได้อย่างลึกซึ้งและเป็นสุขยิ่งขึ้น คุณต้องรักและยอมรับตัวเองก่อน" ถึงจะให้ความหมายที่เหมาะสมและสามารถอธิบายได้อย่างถูกต้องมากกว่า
แ ปลและดัดแปลงจากบทความที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ Psychology Today เขียนโดย Leon F. Seltzer, Ph.D.
อ้างอิง:
Cordaro, D. T., Bai, Y., Bradley, C. M., Zhu, F., Han, R., Keltner, D., Gatchpazian, A., & Zhao, Y. (2024). Contentment and self-acceptance: Wellbeing beyond happiness. Journal of Happiness Studies, 25(1–2). https://doi.org/10.1007/s10902-024-00729-8
Jauhri, V. (2022). Relationship Between Happiness and Self-Esteem Among Young Adults. The International Journal of Indian Psychology, 10(4), 2120–2141. https://doi.org/10.25215/1004.201
Mongrain, M., Chin, J. M., & Shapira, L. B. (2010). Practicing compassion increases happiness and self-esteem. Journal of Happiness Studies, 12(6), 963–981. https://doi.org/10.1007/s10902-010-9239-1