ห่วงใยใครสักคนด้วยการสังเกตุ “6 สัญญาณเตือน” เรื่องสุขภาพจิต
(Talk It Out Part 4)
เมื่อสังเกตเห็นว่าคนที่เราห่วงใยดูเปลี่ยนไป เราจะช่วยอะไรได้บ้าง?
หากคนใกล้ตัวของเรากำลังเผชิญปัญหาด้านสุขภาพจิต การได้รับความช่วยเหลือ การสนับสนุนจากเรา ไม่ว่าจะเป็นแค่ "การนั่งลงข้างๆ และรับฟัง" หรือแม้แต่การช่วยหาข้อมูล ช่วยแนะนำผู้เชี่ยวชาญ ด้านสุขภาพจิตต่างๆ ฯลฯ ล้วนมีบทบาทสำคัญอย่างมาก ที่จะช่วยให้คนที่เราห่วงใย ได้รับการดูแลและฟื้นตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
สัญญาณที่เราควรเฝ้าระวัง
“การเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ที่เห็นได้ชัดเจน”
1. ดูวิตกกังวล ซึมๆ หรือไม่มีความสุขบ่อยขึ้น
2. อารมณ์ขึ้นๆ ลงๆ เช่น หงุดหงิดง่าย หรือร้องไห้บ่อยมากขึ้น
“กิจวัตรและสังคมที่เปลี่ยนไป”
3. มีการเปลี่ยนแปลงในรูปแบบการนอนหลับ และ/หรือพฤติกรรมการกิน
4. ปลีกตัวจากเพื่อน ครอบครัว ฯลฯ หรือหยุดเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคมที่เคยชอบทำ
“ความคิดและการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไป”
5. พูดถึงตัวเอง โลกรอบตัว หรืออนาคตของพวกเขาในแง่ลบมากขึ้น
6. หมกมุ่นกับบางอย่างมากไป เช่น ดูทีวี กินหรือดื่มมากเกินไป เข้าร่วมในกิจกรรมเสี่ยง
หรือขาดงาน และสิ่งนี้เกิดขึ้น บ่อยกว่าปกติหรือมีอาการแย่ลง
ความแตกต่างและข้อควรจำ
จำไว้ว่า: สัญญาณเหล่านี้ อาจมีความแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล
หากเราเริ่มสังเกตเห็นหรือสัมผัสได้ว่า มีบางอย่างไม่ถูกต้อง สิ่งสำคัญคือต้องเข้าไปพูดคุยและถามอีกฝ่ายว่า “เป็นอย่างไรบ้าง?”
การเริ่มต้นบทสนทนา
การเริ่มต้นพูดคุยเรื่องปัญหาสุขภาพจิตกับคนที่เราห่วงใย อาจเป็นเรื่องยากสำหรับบางคน เราอาจประหม่าหรือกังวลว่าอีกฝ่ายจะมีปฏิกิริยาอย่างไร? แต่มีสิ่งหนึ่งที่เราสามารถเตรียมตัวก่อนที่จะเริ่มพูดคุยได้ คือ
หาเวลาที่เหมาะสม
เลือกช่วงที่เราและอีกฝ่ายมีเวลามากพอที่จะพูดคุยกันได้อย่างต่อเนื่อง ไม่ถูกรบกวน และควรหาสถานที่เงียบๆ ที่จะไม่ถูกคนอื่นได้ยินจนอีกฝ่ายกังวลใจ
พูดคุยขณะทำกิจกรรมที่ช่วยให้สบายใจไปด้วย
สำหรับบางคนการพูดคุยเรื่องนี้อาจง่ายขึ้น เมื่อมีกิจกรรมอย่างอื่นทำไปด้วย เช่น ไปเดินเล่น อ่านหนังสือ หรือขับรถด้วยกัน เป็นต้น
เคล็ดลับในการเปิดใจพูดคุย รับฟังและให้การสนับสนุนแก่คนใกล้ตัวที่อาจมีปัญหาเรื่องสุขภาพจิต
เมื่อเราสังเกตเห็นแล้วว่า คนที่เราห่วงใยกำลังมีปัญหาด้านสุขภาพจิต และอยากจะให้ความช่วยเหลือ การสนับสนุนต่างๆ ที่พวกเขาต้องการ ด้วยการเริ่มพูดคุยเกี่ยวกับสิ่งที่อีกฝ่ายกำลังเผชิญอยู่ เช่น ถามว่า "รู้สึกอย่างไรบ้าง?"
ใช้ทักษะการฟังอย่างตั้งใจและเปิดใจ เพื่อเช็คว่าสิ่งที่เราได้ยิน เราเข้าใจถูกต้องแล้ว ด้วยการสรุปสิ่งที่อีกฝ่ายพูด หรือพูดทวนว่าพวกเขารู้สึกอย่างไร และสะท้อนมันกลับไปในบทสนทนา
สำคัญที่สุด พยายามฟังโดยไม่ตัดสินหรือตอบสนองด้วยอคติของเรา แม้ว่าเราจะรู้สึกท่วมท้นแค่ไหน พยายามสงบสติอารมณ์ไว้ก่อน เพราะจะช่วยให้อีกฝ่ายสงบสติอารมณ์ได้เช่นกัน
ไอเดียดีๆ เริ่มต้นบทสนทนาเรื่องสุขภาพจิต
1. “เราสังเกตเห็นเมื่อเร็วๆ นี้ว่าเธอ...”
เป็นวิธีที่ดีในการเริ่มบทสนทนา คือการพูดถึงสิ่งที่เราสังเกตเห็นว่า อีกฝ่ายดูแตกต่างไปจากตัวตนปกติที่เคยเป็น และช่วยเตือนอีกฝ่ายว่าเราใส่ใจและเป็นห่วง
2. “มีอะไรที่อยากเล่าฟัง/ คุยด้วยไหม?”
เป็นคำถามปลายเปิด ที่ช่วยกระตุ้นให้อีกฝ่ายเล่าสิ่งที่อยู่ในใจได้ดี
3. "ถ้ายังไม่พร้อมเล่า ไม่เป็นไรเลย มันอาจเป็นเรื่องยากที่จะพูดถึง..."
ถ้าอีกฝ่ายยังไม่สะดวกใจที่จะพูดคุย ดังนั้นให้เวลาและพื้นที่เท่าที่พวกเขาจะรู้สึกสบายใจ
4. “เราเข้าใจว่าสิ่งนี้มันยากสำหรับเธอแค่ไหน...”
บอกให้อีกฝ่ายรู้ว่าเราใส่ใจและรับรู้ว่าพวกเขารู้สึกอย่างไร แม้ว่าสิ่งที่พวกเขากำลังเผชิญ อาจไม่ใช่สิ่งที่เราเข้าใจได้อย่างถ่องแท้ก็ตาม
5. “เธออยากให้เราช่วยยังไงบ้าง?” หรือ
“เราจะทำอะไรได้บ้าง เพื่อให้สิ่งต่างๆ ดีขึ้น/ เธอรู้สึกดีขึ้น?”
เพื่อให้ อีกฝ่ายรับรู้ว่ามีเราอยู่ข้างๆ คอยซัปพอร์ตให้พวกเขาลงมือทำบางสิ่ง เช่น หยุดพักหรือก้าวต่อไปข้างหน้าได้อย่างสบายใจและไม่โดดเดี่ยว
คำพูดที่ควรหลีกเลี่ยง
หลีกเลี่ยงการใช้คำพูดที่ดูเพิกเฉย หรือทำให้ความกังวลของอีกฝ่าย ดูเป็นเรื่องเล็กน้อย เช่น
✖ “เดี๋ยวมันจะผ่านไป”
✖ “ลืมๆ มันไปเถอะ”
✖ “มันอาจจะแย่กว่านี้ก็ได้”
อย่าทำให้บทสนทนามีแต่เรื่องของตัวเรา ให้เน้นไปที่เรื่องราวของอีกฝ่าย เราไม่จำเป็นต้องให้คำแนะนำใดๆ สิ่งสำคัญที่อีกฝ่ายควรรู้คือ เราอาจไม่มีคำตอบทั้งหมดให้ แต่เราจะอยู่ที่นี่เพื่อซัปพอร์ตพวกเขา
โพสต์นี้แปลและดัดแปลงบทความบางส่วนมาจากเว็บไซต์ Medicarementalhealth.gov.au
บทความเรื่อง Talking to someone about their mental health
อ้างอิง:
[1] Medicarementalhealth.gov.au